เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
7. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค 2. ปัจจันตสูตร

7. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยอามกธัญญเปยยาลที่ 1
1. อัญญตรสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์

[1131] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมากับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์ทรงใช้ปลาย
พระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้
หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์
มีเพียงเล็กน้อย ส่วนสัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีจำนวนมากกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่ได้เห็นอริยสัจ 4 ประการ
อริยสัจ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ 4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อัญญตรสูตรที่ 1 จบ

2. ปัจจันตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท

[1132] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :640 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [12. สัจจสังยุต]
7. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค 4. สุราเมรยสูตร

ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยนี้ที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมากับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์
ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้
เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท
มีเพียงเล็กน้อย ส่วนสัตว์ที่กลับมาเกิดในปัจจันตชนบทในหมู่ชาวมิลักขะผู้โง่เขลา
มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ปัจจันตสูตรที่ 2 จบ

3. ปัญญาสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่มีปัญญาจักษุ

[1133] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ประกอบด้วย
ปัญญาจักษุ อย่างประเสริฐ มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ตกอยู่ในอวิชชา ลุ่มหลง
มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ปัญญาสูตรที่ 3 จบ

4. สุราเมรยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการดื่มสุราและเมรัย

[1134] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการดื่ม
น้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่
เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีจำนวน
มากกว่า ฯลฯ

สุราเมรยสูตรที่ 4 จบ